โดย กิม วิโรจน์
การทุ่มตลาดจากจีน กลยุทธ์การตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งของ BYD
ปรากฏการณ์การทุ่มตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีน โดยเฉพาะ BYD ที่ลดราคาสินค้าอย่างมากเพื่อแย่งชิงตลาดใน ทั้ง EU และ US รวมถึงไทย ส่งผลให้ EU และ US ต้องตั้งกำแพงภาษีสูงตอบโต้ ในขณะเดียวกัน BYD ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาต่ำกว่าต้นทุนคู่แข่งเพื่อกำจัดคู่แข่งออกจากตลาด เมื่อครองตลาดได้แล้ว BYD สามารถขึ้นราคาได้อย่างไร้คู่แข่ง รัฐบาลจำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์นี้เพื่อป้องกันการครอบครองตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
ปรากฏการณ์ดอย BYD EV หนาวมากในวันสองวันนี้ หากจะวิเคราะห์แล้วจะประกอบด้วยปัจจัยสองส่วน ส่วนแรกคือ การทุ่มตลาดจากจีน และส่วนที่สองคือ กลยุทธ์ตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งของ BYD เอง
ทุ่มตลาด
ส่วนแรก การทุ่มตลาด (dumping) เป็นกลยุทธ์ทางการค้าที่ผู้ผลิตในประเทศหนึ่ง (ในที่นี้คือจีน) ลดราคาสินค้าลงต่ำมากกว่าผู้ผลิตในประเทศ (EU, US, ไทย ฯลฯ) เป็นไปเพื่อการแย่งชิงสัดส่วนตลาดในเวลาอันรวดเร็ว
ความวิตกจาก EU และ US
ทางประเทศใน EU โดยเฉพาะฝรั่งเศสวิจารณ์เสียงแข็งมากว่า EU จะต้องป้องกันปัญหารถ EV จีนล้นตลาดมาตั้งแต่หลายเดือนก่อน ด้วยการตั้งกำแพงภาษี (tariff) กับผู้ผลิตรถ EV จีน มากสุดถึง 38.1% ซึ่งก็จะเริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้แล้ว โดยอ้างว่าทางรัฐบาลจีนอุดหนุน (subsidy) ผู้ผลิตจีนอย่าง BYD ซึ่งสร้างอำนาจการแข่งขันแบบไม่เป็นธรรม (unfair advantage) ต่อผู้ผลิตรถ EV ในฝรั่งเศส, เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ใน EU
ขณะที่สหรัฐก็ชิงนำไปก่อนแล้ว ด้วยการตั้งกำแพงภาษีแบบเต็มคาราเบล 100% ตั้งแต่พฤษภาคม
ทางรัฐบาลจีนก็เริ่มออกมาโต้แย้งว่าข้อกล่าวหาของ EU นั้นไม่จริง และเยอรมนีเองก็กังวลเช่นกันว่าจีนอาจมีมาตรการตอบโต้ ซึ่งจะก่อให้เกิดสงครามการค้าได้ในอนาคต
ผลกระทบต่อภูมิภาคอื่น
จากอุปทานรถ EV จีนที่มีมากอยู่แล้ว และจะมากขึ้นอีกเพราะโดนภาษีกำแพงจาก EU และ US จะทำให้รถ EV จีนจะไหลไปยังภูมิภาคอื่น หนึ่งในนั้นคืออาเซียน และไทยนี่เอง หากไม่มีการจับตาดู อาจจะเจอการลดราคาแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์อีกหลายระลอก
กลยุทธ์การตั้งราคาเพื่อกำจัดคู่แข่งของ BYD
ส่วนที่สองคือ กลยุทธ์การตั้งราคาแบบมุ่งกำจัดคู่แข่ง (predatory pricing) ซึ่งก็คือ การตั้งหรือลดราคาให้ระดับต่ำกว่าต้นทุนคู่แข่งในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อกระชากสัดส่วนทางการค้าแบบรวบหัวรวบท้าย โดยทาง BYD เองนั้นมีกระบวนผลิตแบบ vertical intergration หรือทำตั้งแต่ต้นน้ำ มีไลน์การผลิตรถ มีแบตเตอรี่เป็นของตัวเอง ยันปลายน้ำ จัดจำหน่ายผ่านโชว์รูมของเอง ทำให้ไม่ต้องจ่ายส่วนเพิ่มให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM หลากหลายราย จึงสามารถควบคุมต้นทุนได้มากกว่าคู่แข่ง
เป้าหมายของ BYD
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทาง BYD อาจจะเล็งว่าการลดราคาลงแบบจัดเต็มในช่วงนี้ จะทำให้สามารถครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งในไทยและตลาดโลกได้ในเวลาอันรวดเร็ว (คาดว่าจะกินตลาด EV โลกไปถึงครึ่งในอีกไม่กี่ปี) และคู่แข่งก็จะขาดทุนจนอยู่ไม่ได้ ต้องออกจากตลาดไป
ทีนี้ เมื่อจำนวนคู่แข่งในตลาดลดลงจนเหลือไม่กี่ราย อำนาจตลาดของ BYD ก็จะสูงขึ้นมาก เมื่อนั้นเอง ก็จะสามารถมาเก็บเกี่ยวกำไรด้วยการขึ้นราคาแบบบีบบังคับลูกค้า เพราะคู่แข่งในตลาดเหลือน้อย ไม่มีตัวเลือกนั่นเอง
ตัวอย่างที่เราเคยเห็น ก็เช่นแอพสั่งอาหารหรือเรียกรถหรือส่งของ อย่าง Grab ที่ในบางประเทศได้ครอบครองตลาดไปแล้ว ราคาและค่า GP ก็ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลจำเป็นจะต้องคอยจับตาดู หรือสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้าตรวจสอบ เพื่อออกมาตรการรับมืออย่างรวดเร็ว
แหล่งอ้างอิง
BYD ของจีนเตรียมแซงหน้า Tesla ขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่อันดับ 1 ของโลก
สหภาพยุโรปประกาศเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นสูงสุดถึง 38% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
หมายเหตุ
ไม่ต้องเชื่อผู้เขียนทั้งหมด หากสงสัยแนะนำให้เช็คข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อีกที
เกี่ยวกับผู้เขียน
กิม นักวิจัยสาขาเศรษฐศาสตร์ด้าน international trade, entrepreneurship and innovation ที่มหาวิทยาลัย Blekinge Institute of Techonology ประเทศสวีเดน