โดย นก อุ่นผล
Series: บทเรียนจากยุโรป
การเมืองของเดนมาร์กมีการการประณีประนอมในการจัดตั้งรัฐบาล
และการทำงานด้วยกันกับพรรคการเมืองซึ่งอยู่คนละขั้วก็เช่นกัน
หลังจากที่เดนมาร์กมีการเลือกตั้งใหญ่ปี 2022 เดนมาร์กได้จัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรค Social Democrats (พรรคฝ่ายซ้ายกลาง), Venstre (พรรคฝ่ายขวากลาง) และ Moderates (พรรคกลางๆ ) โดยมี Mette Frederiksen เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นครั้งแรกในรอบสี่ทศวรรษที่เดนมาร์กมีรัฐบาลผสมที่ข้ามขั้วการเมืองแบบนี้
ระบบการเลือกตั้งส.ส.ของเดนมาร์กใช้ระบบสัดส่วนแบบเปิด (Open List Proportional Representation) ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากจากระบบการเลือกตั้งในอังกฤษ (First Past the Post) และฝรั่งเศส (Two-Round System) ที่ Winner-takes-all
การใช้ระบบสัดส่วนแบบเปิดของที่เดนมาร์กนั้นทำให้ที่นั่งในรัฐสภาถูกแบ่งตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับ เพราะฉะนั้นการจัดตั้งรัฐบาลอาจมีความยากลำบากและซับซ้อน โอกาสการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วการเมืองจึงมีได้
เมื่อเทียบกับฝั่งอังกฤษหรือฝรั่งเศสการเมืองของเดนมาร์กมีการการประณีประนอมมากกว่าในการจัดตั้งรัฐบาลและการทำงานด้วยกันกับพรรคการเมืองซึ่งอยู่คนละขั้ว
ในอังกฤษหรือฝรั่งเศสนั้น การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วอาจจะถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอของพรรคการเมือง แต่เดนมาร์กนั้น จริงๆ ก็แปลกแต่ตราบใดที่รัฐบาลยังครองเสียงข้างมากในรัฐสภา พรรคต่างๆ ในรัฐบาลก็นำนโยบายเรื่องที่หาเสียงไว้มาทำต่อไป อาจจะสามารถผลักดันไม่ได้เต็มร้อยเพราะต้องประนีประนอมกับพรรคอื่นมากขึ้น สำหรับด้อมพรรคการเมืองนั้นก็มีขัดใจเป็นธรรมดา เลือกตั้งครั้งหน้าค่อยว่ากัน
เดนมาร์กจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วครั้งแรกในรอบสี่ทศวรรษ
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของเดนมาร์กปี 2022 ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรค Social Democrats, Venstre และ Moderates โดยมี Mette Frederiksen เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นครั้งแรกในรอบสี่ทศวรรษที่เดนมาร์กมีรัฐบาลผสมที่ข้ามขั้วการเมืองแบบนี้ การตั้งรัฐบาลนี้เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งพรรคผสมนี้มีที่นั่งรวมกัน 89 จาก 179 ที่นั่งในรัฐสภาซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่มั่นคง แต่กว่าจะตั้งได้ก็ใช้เวลา 44 วันซึ่งค่อนข้างนานสำหรับคนเดนมาร์ก แต่น้อยมากถ้าเทียบกับเบลเยี่ยมช่วงปี 2010-2011 ซึ่งใช้เวลาถึง 541 วันในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากการเจรจาระหว่างพรรคการเมืองที่ยาวนานและความขัดแย้งระหว่างภูมิภาค
ถึงเดนมาร์กจะจับมือตั้งรัฐบาลข้ามขั้วได้ การมีเสียงข้างมากในสภาก็ยังต้องประนีประนอมกันกับพรรคอื่นๆ ในสภาเมื่อต้องออกเสียงรับร่างเสนอพ.ร.บ.หรือกฎหมายต่างๆ อยู่ดี การที่เดนมาร์กมีประเพณีปฎิบัติแบบนี้เพราะชุดความคิดแบบประชาธิปไตยที่เป็นเอกฉันท์ซึ่งเอื้อให้เกิดความมั่นคงต่อการบริหารงานแผ่นดินในระยะยาวและเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของประเทศ
ระบบเลือกตั้งส.ส.ของเดนมาร์ก เปรียบเทียบกับของอังกฤษและฝรั่งเศส
ระบบการเลือกตั้งของเดนมาร์กใช้ระบบสัดส่วนแบบเปิด (Open List Proportional Representation) ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากจากระบบการเลือกตั้งในอังกฤษ (First Past the Post) และฝรั่งเศส (Two-Round System) ดังนี้
ระบบการเลือกตั้งส.ส.ของเดนมาร์ก
(Open List Proportional Representation)
หลักการพื้นฐาน
- ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ซึ่งหมายถึงที่นั่งในรัฐสภาจะถูกแบ่งตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับ
- ผู้ลงคะแนนสามารถเลือกพรรคการเมืองและสามารถเลือกผู้สมัครเฉพาะเจาะจงภายในพรรคนั้นได้ (Open List)
วิธีการเลือกตั้ง
- เดนมาร์กแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็นเขตเลือกตั้งหลายเขต (Multi-Member Constituencies) โดยแต่ละเขตจะมีหลายที่นั่งในรัฐสภา
- ผู้ลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองสามารถเลือกผู้สมัครเฉพาะเจาะจงจากพรรคนั้นได้
- ที่นั่งในรัฐสภาจะถูกแบ่งตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับในแต่ละเขตเลือกตั้ง
ข้อดีของระบบสัดส่วนแบบเปิด
- สะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากที่นั่งในรัฐสภาถูกแบ่งตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับ
- ผู้ลงคะแนนมีความยืดหยุ่นในการเลือกผู้สมัครเฉพาะเจาะจงภายในพรรคการเมือง
ข้อเสียของระบบสัดส่วนแบบเปิด
- อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความยากลำบาก เนื่องจากพรรคการเมืองมักจะไม่ได้เสียงข้างมากในรัฐสภาและต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม
เปรียบเทียบกับระบบการเลือกตั้งส.ส.ของอังกฤษ
(First Past the Post)
หลักการพื้นฐาน
- ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นผู้ชนะ (Winner-takes-all)
ข้อดี
- การเลือกตั้งและนับคะแนนเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว
- มักจะส่งผลให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเนื่องจากพรรคที่ได้เสียงข้างมากมักสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
ข้อเสีย
- อาจไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนทั้งหมด เนื่องจากผู้ชนะอาจได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกตั้งแบบ “Winner-takes-all” ซึ่งผู้ชนะเพียงคนเดียวจะได้ทุกอย่างแม้ว่าผู้แพ้จะมีคะแนนเสียงมากพอสมควร
เปรียบเทียบกับระบบการเลือกตั้งส.ส.ของฝรั่งเศส (Two-Round System)
หลักการพื้นฐาน
- ใช้ระบบสองรอบ (Two-Round System) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ข้อดี
- เปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ไม่ชนะในรอบแรกยังมีโอกาสชนะในรอบที่สอง
- ช่วยให้ประชาชนมีเวลาในการพิจารณาผู้สมัครอีกครั้งก่อนตัดสินใจสุดท้าย
ข้อเสีย
- อาจใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้นเนื่องจากต้องจัดการเลือกตั้งสองรอบ
- อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดการเลือกตั้งและนับคะแนน
สรุปเปรียบเทียบ
อังกฤษใช้ระบบ FPTP เน้นความเรียบง่ายและรวดเร็วแต่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนทั้งหมดอย่างถูกต้อง ฝรั่งเศสใช้ระบบสองรอบเน้นความยุติธรรมและเปิดโอกาสให้ผู้สมัครที่ไม่ชนะในรอบแรกมีโอกาสชนะในรอบที่สอง แต่ใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้น เดนมาร์กใช้ระบบสัดส่วนแบบเปิดสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างถูกต้องมากที่สุด เนื่องจากที่นั่งในรัฐสภาถูกแบ่งตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองได้รับแต่การจัดตั้งรัฐบาลอาจมีความยากลำบากและซับซ้อน การประนีประนอมจึงเป็นกุญแจสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลของเดนมาร์ก
ส่งท้าย
การที่ระบบเลือกตั้งส.ส.ต่างกัน ทำให้มุมมองต่อการจัดตั้งรัฐบาลต่างกัน การทำงานในรัฐสภาก็ต่างกัน คนที่สมาทานระบบเลือกตั้งของอังกฤษหรือฝรั่งเศสก็จะมองว่าการตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วแบบเดนมาร์กคือการตระบัดสัตย์ ไม่มีกระดูกสันหลัง ในขณะเดียวกันคนที่สมาทานระบบเลือกตั้งของเดนมาร์กมองว่าการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วถึงจะไม่ปกติแต่ก็มีได้ พรรคการเมืองต่างๆ ต้องทำงานด้วยการประนีประนอมกันมากขึ้น ส่วนด้อมของพรรคการเมืองที่เห็นพรรคตัวเองไปจับข้ามขั้วเค้าก็มีขัดใจอยู่พอสมควร จากโพลล่าสุดที่สอบถามด้อมของพรรคที่อยู่ในรัฐบาลตอนนี้ ส่วนใหญ่จะหันไปสนับสนุนพรรคอื่นที่ขั้วเดียวกันแทนพรรคที่ตัวเองเลือกครั้งก่อน
นับว่าการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของเดนมาร์กครั้งนี้เป็นการทดลองเรียนรู้ที่น่าสนใจของระบบเลือกตั้งแบบระบบสัดส่วนแบบเปิด เราคงต้องรอดูเลือกตั้งครั้งหน้าว่าผลจะเป็นอย่างไร
เกี่ยวกับผู้เขียน
นก เรียนด้านไอที มีประสบการณ์ทำงานด้านพัฒนาระบบของธนาคารแห่งหนึ่งในยุโรปเหนือ ปัจจุบันทำงานออกแบบระบบของผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์อันดับต้นๆ ของโลก
เวลาว่างชอบทำกับข้าว ดูซีรีย์เกาหลี ชอบติดตามข่าวและความเคลื่อนไหวด้าน Cyber Security และช่วงนี้ติดตาม IG หมีเนย