สวีเดนในยุคเสรีภาพ มีกษัตริย์ไว้ทำไม

สวีเดนในยุค #เสรีภาพ มี #กษัตริย์ ไว้ทำไม

by Kasemsun Rawvilai

สวีเดนในช่วง ค.ศ.1697-1718 อยู่ภายใต้รัชสมัยคาร์ลที่ 12 กษัตริย์ที่ทำสงครามนอกประเทศแทบจะตลอดช่วงรัชสมัยของตัวเอง คาร์ลที่ 12 ทำสงครามมากแต่สงครามที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือสงครามโพลทาว่าสงครามที่ทำให้สวีเดนยังอับอาย และรัสเซียยังเอามาล้อจนถึงทุกวันนี้ กองทัพสวีเดนที่เกรียงไกรในยุคนั้นแพ้ราบคาบ พอรบแพ้ที่โพลทาว่า นั่นถึงเวลาดวงตก หนีซมซานไปตุรกี และก็ไปตั้งหลักและรวบรวมพล เป็นอย่างนี้ตลอดนับสิบปี ช่วงที่มีกาฬโรคระบาดที่สต๊อคโฮล์มทางคาร์ลก็ไม่ได้สนใจเสียเท่าไหร่ ง่วนเงี่ยนกับการสงคราม สุดท้ายคาร์ลตัดสินใจยกทัพไปตีนอร์เวย์

สงครามในช่วงคาร์ลนั้นสร้างหนี้สินมหาศาล ตีเป็นเงินราวๆ หนึ่งหมื่นล้านโครนเมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน เงินพวกนี้มาจากการกู้ยืม เงินภาษีราษฎร ที่หนักกว่านั้นคือพลเมืองชายขาดแคลนจำนวนมาก เพราะถูกส่งไปรบ ตลาดแรงงานขาดแคลน การขาดสมดุลนี้ทำให้สวีเดนใช้เวลานานอีกหลายทศวรรษกว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้

ปีค.ศ.1718 คาร์ลที่ 12 ตายในสงคราม คณะอำมาตย์และขุนนางบอกว่าไม่เอาอีกแล้วกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์เผด็จการกุมอำนาจอยู่เพียงผู้เดียว คาร์ลยังไม่มีเมีย คนสืบราชบัลลังก์ก็ยังไม่มี คนที่สืบสันติวงศ์คนต่อไปคือน้องสาว อุลรีก้า เอลเลน่อร่า ซึ่งน้องสาวนี่ก็กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้สืบต่อเพราะพี่สาวตัวเองที่ตายไปก่อนหน้านั้นมีลูกชาย ซึ่งหลานชายแท้ๆของอุลรีก้า เอเลน่อร่าก็มีโอกาสเหมือนกัน ดีลลับเลยเกิดขึ้นกับคณะขุนนาง ว่าเธอขอตำแหน่งจะให้เป็นแค่สัญลักษณ์ก็เอา และพร้อมเซ็นต์รับรัฐธรรมนูญใหม่

ในความเป็นจริงแล้วมีหัวหอกขุนนางคนหนึ่งที่อยากจะให้สวีเดนนั้นไม่มีสถาบันกษัตริย์เลย ต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้กุมบังเหียนประเทศ แต่สุดท้ายไม่สำเร็จ แถมขุนนางหัวหอกคนนี้ดันหัวใจวายตายกลางรัฐสภาเฉยเลย เลยไปจบที่ว่า ให้กษัตริย์คงไว้เหลือเพียงแค่สัญลักษณ์และให้รัฐบาลเป็นผู้บริหารโดยที่มีรัฐสภาเป็นผู้รับรองทางกฎหมาย รัฐสภาก็มาจากตัวแทนทั้งสี่ของสังคมสวีเดนในยุคนั้น ขุนนาง นักบวช ช่าง ชาวนา ในยุคนั้นถือว่าล้ำหน้ามาก เรียกได้ว่าสวีเดนเริ่มใช้การปกครองแบบรัฐสมัยใหม่แล้วคือการส่งตัวแทนไปบริหารประเทศ ซึ่งระบบนี้ใช้มาตั้งแต่ต้นยุค 1600แล้ว แต่พอกษัตริย์รบชนะก็มาอ้างอวดอุตริมนุสธรรม ว่าตัวเองเป็นเทพ บลาบลาบลา ยึดเอาอำนาจมาเป็นของตัวเองเฉยเลย ช่วงค.ศ.1655-1718 เลยเป็นช่วงยุคมืดทางการเมืองอีกครั้งของสวีเดน

ในระหว่างยุคค.ศ. 1718-1772 นั้น กษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ มีอำนาจก็ตรงที่แต่งตั้งบางตำแหน่ง อย่างอธิบดี แต่รัฐบาลก็คัดสรรชื่อมาให้กษัตริย์เลือกเท่านั้น ในทางปฏิบัติก็แค่เลือกจากช๊อยส์ที่เขามีให้ พอกษัตริย์ไม่ลงราชปรมาภิไธย รัฐบาลก็เอาตราลัญจกรชื่อปั๊มเองเลย

สวีเดนในเวลานั้นถูกเรียกว่ายุคแห่งเสรีภาพ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุคแห่งแสงสว่างของอังกฤษ เป็นยุคที่ความรู้แพร่สะพัด ในเวลานั้นสวีเดนมีนักการเมืองสองกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการเมืองในยุคนั้นคือกลุ่มหมวกสวมนอนกับหมวกขุนนาง (ที่มาที่ไปนี่ยาว เอาไว้อธิบายคราวหลัง) ซึ่งกลุ่มนี้ผลัดกันเปลี่ยนอำนาจไปมา กลุ่มนึงมีรัสเซียหนุนหลัง อีกกลุ่มมีฝรั่งเศส นักการเมืองในยุคนั้นไม่มีผลตอบแทนในการดำรงตำแหน่ง การคอรัปชั่นเลยเกิดขึ้น แน่นอนว่ามันเป็นข้อเสียของระบบในยุคนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าระบบมันแย่ไปทั้งหมด

แต่สิ่งที่ทั้งสองพรรคการเมืองได้สร้างคุณูปการกับประเทศสวีเดนคือการออกกฎหมาย tryckfrihetsförordningen หรือราชบัญญัติเสรีภาพสื่อ ซึ่งเป้าหมายของราชบัญญัตินี้มีเพื้อต้องการให้สื่อตรวจสอบกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นเผด็จการ ใครจะชอบให้มาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง แต่ถ้ามีกลุ่มที่มากกว่าหนึ่ง อาวุธที่สำคัญในเวทีการเมืองนั่นคือการวิจารณ์ การด่า ซึ่งราชบัญญัติเสรีภาพสื่อนี้เกิดที่สวีเดนเป็นแห่งแรกของโลก (ยูเนสโกเพิ่งประกาศไปไม่นานนี้ให้ราชบัญญัตินี้เป็นมรดกโลก) และไม่เพียงสื่อมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้นแต่คนทั่วไปสามารถขอตรวจสอบเอกสารทางราชการที่บันทึกเอาไว้ด้วย การถือกำเนิด allmän handling เกิดขึ้น เอกสารทั่วไปนี่คือสิทธิ์ที่ที่ตาสีตาสาขอรัฐดูเอกสารว่าใครออกคำสั่งอะไร เป็นเงินเท่าไหร่ ใครเอาไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งทุกวันนี้ยังใช้กันอยู่ เรียกได้ว่าระบบการตรวจสอบหน่วยงานรัฐของสวีเดนมีอายุมานานมากกว่า 250ปี

แต่ที่น่าตลกก็คือ เมื่อกุสตาฟที่ 3 ขึ้นครองราชย์ในปี 1771 และปีต่อมาตัวเองทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญและเขียนขึ้นมาใหม่ให้ตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เท่านั้นไม่พอยกเลิกราชบัญญัติเสรีภาพสื่อด้วย ถือเป็นการสิ้นสุดของยุคเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ มันน่าแปลกไหมที่เมื่อเผด็จการมีอำนาจจึงต้องจัดการกับเสรีภาพทางสื่อ ความคิดและการแสดงออกเป็นอันดับแรก

ในยุคเสรีภาพนั้นนอกจากมีกฎหมายเสรีภาพสื่อแล้ว ยังมีการพัฒนาทั้งทางด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ มีการก่อตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อรองรับกับโลกยุคใหม่ มีกรมสถิติแล้วตั้งแต่ปีค.ศ.1758 เพื่อเอาข้อมูลไปพัฒนาในด้านต่างๆ

แน่นอนว่า เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าถ้ากษัตริย์ถืออำนาจแต่เพียงผู้เดียวนั้นจะทำให้เกิดการพัฒนาในสวีเดนแบบที่รัฐบาลในยุคนั้นทำหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตามมันมีแนวโน้มสูงว่าถ้าเป็นแบบพรรคการเมืองมาบริหารประเทศจะพยายามพัฒนาประเทศ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการสร้างผลงานเพื่อต้องการชนะเลือกตั้ง และที่สำคัญเสรีภาพของสื่อนั้นเป็นมรดกที่ตกทอดมาถึงสวีเดนในยุคปัจจุบัน

น่าเสียดายว่า ถ้าขุนนางคนนั้นไม่หัวใจวายตายเสียก่อน สวีเดนจะกลายเป็นสาธารณรัฐก่อนฝรั่งเศส 70 ปีล่วงหน้าหรือเปล่า ถ้ากุสต๊าฟที่ 3 ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง สวีเดนจะพัฒนาระบบรัฐสภาไปได้ไกลขนาดไหน แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการห้ามวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์นั้น ทำให้สวีเดนหมุนนาฬิกาย้อนหลังกลับไปอีก ส่งผลให้สวีเดนต้องวุ่นวายทั้งในและนอกประเทศ และสุดท้ายราชวงศ์โฮลสไต-ก๊อตถอร์ปก็สิ้นสุดลงเพราะสุดท้ายแล้วรัฐสภาก็ทนไม่ไหวทำรัฐประหารยึดอำนาจคืนจากกษัตริย์ในปี 1809 และนั่นคือจุดสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลังจากนั้นสองร้อยปีต่อมาสวีเดนก็มายืนอยู่จุดนี้ โดยที่สถาบันกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการพัฒนาชาติเลย

*ในรูปคือ King Karl XII in Kungsträdgården, Stockholm, Sweden.