โดย ชินนี่–พิมพ์ลภัส
ข่าวจาก WHO ระบุว่าประเทศไทยกำลังตื่นตัวและจริงจังกับปัญหาเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ (Antimicrobial Resistance) ซึ่งถือเป็นวิกฤตเงียบทั้งในไทยและทั่วโลก [อ่านเพิ่มเติม WHO : ประเทศไทยส่งเสียงเตือนเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ]
ดิฉันซึ่งทำงานวิจัยด้านนี้ คงต้องบอกว่าไม่แปลกใจเลย เพราะมันเป็นวิกฤตจริงๆ และจะไม่เงียบด้วย มันระอุให้เห็นมากขึ้นทุกวัน แต่ที่ดีใจคือ ไทยยอมรับและเริ่มแผนการต่อสู้วิกฤตนี้
สิ่งที่ไทยมุ่งมั่นที่จะทำ (ตามที่ WHO รายงาน) คือ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งในคนและในปศุสัตว์ รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงปัญหาดื้อยา และการเฝ้าระวังเชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ
แผนทั้งหมดข้างต้นนั้นถูกต้องและควรทำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะทำอย่างจริงจังมานานแล้ว แต่สิ่งที่ดิฉันอยากเสนอเพิ่มเติมคือ สาเหตุของการดื้อยา ไม่ใช่แค่การใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้น เพราะตราบใดในสิ่งแวดล้อมยังมีการกระจายของเชื้อโรคดื้อยา ความเป็นอยู่ของคน สัตว์ และสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ยังไงการดื้อยาก็ไม่หายไปง่ายๆ แม้จะลดการใช้ยาแล้ว
การวิจัยล่าสุดที่ Technical University of Denmark (DTU) จากกลุ่มวิจัยที่ดิฉันทำงาน เราทำการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง (waste water) จากหลากหลายเมืองทั่วโลก แล้วถอดรหัส DNA ทุกอย่างในน้ำเสีย รวมถึง DNA ของเชื้อโรคดื้อยา เพื่อหาชนิดและปริมาณการดื้อยาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แล้วเราก็เอาข้อมูลปริมาณการดื้อยานั้น ไปผนวกกับข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic Usage) และข้อมูลสภาพสังคมและเศรษฐกิจ (Socio-economy) จากหลากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อใช้ machine learning วิเคราะห์ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ตัวไหนที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก [อ่านเพิมเติม การติดตามการดื้อยาต้านจุลชีพทั่วโลกโดยอาศัยการวิเคราะห์เมตาโนมิกส์ของน้ำเสียในเมือง , การวิเคราะห์จีโนมของน้ำเสียจาก 101 ประเทศเผยให้เห็นภาพรวมทั่วโลกของการดื้อยาต้านจุลชีพ]
สิ่งที่พบก็คือ สภาพสังคมและเศรษฐกิจมีผลต่อปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะมากกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ ยิ่งกว่านั้น การใช้ยาปฏิชีวนะบางตัว เช่น Fluoroquinolone และ Phenicol แทบไม่มีผลเกี่ยวข้องกับการดื้อยามากขึ้นหรือน้อยลงในระดับประเทศ แต่การลงทุนด้านสุขาภิบาล การทำให้เมืองสะอาด และความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งคนและสัตว์ (เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อตั้งแต่แรก) มีผลยิ่งกว่าในการลดการดื้อยาปฏิชีวนะในระดับประเทศ [อ่านเพิ่มเติม การเชื่อมโยงตัวแปรด้านสุขภาพ โภชนาการ และเศรษฐกิจสังคมกับการดื้อยาต้านจุลชีพทั่วโลก: การศึกษาแบบจำลอง]
นี่ล่ะค่ะ ถ้าเราโฟกัสแค่การใช้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว รวมถึงการเฝ้าระวังเพียงแค่ในคนและสัตว์ ไม่เฝ้าระวังในสิ่งแวดล้อมด้วย เราอาจลดหรือแก้ปัญหาดื้อยาไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักฐานเชิงประจักษ์อย่างหนึ่งคือ ไทยยังใช้ยาปฏิชีวนะอยู่จริงๆ แต่ไทยก็ลดการใช้ยามาบ้างแล้ว ทั้งในคนและสัตว์ แต่การดื้อยาไม่ได้ลดลงเลย ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้นมากทุกปี
“การดื้อยาต้านจุลชีพหรือ AMR เป็นวิกฤติร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลก หากไม่แก้ไขจะมีคนเสียชีวิตปีละกว่า 1.3 ล้านคน และอาจเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในอีก 30 ปี…”
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 12 มิย. 2567